สำหรับหลาย ๆ คน แสงแดดถือเป็นวายร้ายสำหรับ ผิวหนัง ไม่ว่าจะทำให้ผิวหมองคล้ำ ผิวหน้าแห้ง ลอก หรือทำให้ผิวหน้าไหม้ แต่สำหรับบางคน การไม่เจอแสงแดดเลยก็ส่งผลให้ไม่มีความสุขและมีอาการของภาวะซึมเศร้า โดยอาการนี้จัดว่าเป็นความผิดปกติของอารมณ์ตามฤดูกาล ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่าแสงแดดนั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง และเราควรปฏิบัติตนยังไงให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีของเรากัน!
แสงแดด ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
แสงแดดที่ส่องมายังพื้นโลกจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ
- รังสี UV เป็นแสงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีความยาวคลื่นสั้นในช่วง 280-400 นาโนเมตร มีพลังงานสูงและสามารถทะลุเข้าเซลล์ผิวได้และไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากอนุมูลอิสระ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์ขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวไหม้ หมองคล้ำ เกิดริ้วรอย และอาจจะเป็นมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย รังสี UV สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ UVA, UVB และ UVC
- แสงที่ให้ความสว่าง (Visible light) มีสัดส่วน 45% ของแสงแดดทั้งหมด มีระดับพลังงานที่ต่ำกว่ารังสี UV หลายพันเท่า แต่ถ้าได้รับเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้ผิวหมองคล้ำหรือแห้งได้
- แสงอินฟราเรด (Infrared) เป็นแสงที่มีพลังงานต่ำที่สุดและเป็นแสงที่ให้ความร้อน ดังนั้นแสงแดดที่เราสัมผัสแล้วรู้สึกร้อน ก็มาจากแสงอินฟราเรดนั่นเอง
แสงแดดมีผลต่ออารมณ์อย่างไร
ในประเทศที่มีอากาศหนาวหรืออยู่ในช่วงฤดูหนาว มักจะไม่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า SAD หรือ “Seasonal affective disorder” ที่ทำให้คนเรามีอาการคล้าย ๆ โรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกไม่มีพลังในการใช้ชีวิต เบื่ออาหารที่เคยชอบ นอนมากเกินความจำเป็น มีปัญหาในการโฟกัส หงุดหงิดง่าย แต่ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นแค่ในฤดูหนาวที่แทบไม่เจอดวงอาทิตย์เลย ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคมในปีถัดไป ในประเทศที่ฤดูหนาวยาวนาน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ในเดือนที่มืดมนเหล่านี้ เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มารวมตัวกันสังสรรค์ เฉลิมฉลอง จุดเทียน และร้องรำทำเพลงเพื่อไล่ความเหงาออกไป
นอกจากแสงแดดจะส่งผลทางด้านอารมณ์แล้ว แสงแดดยังช่วยกระตุ้นร่างกายเราให้ผลิตวิตามินดี (vitamin D) ที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและลดความเสี่ยงของภาวะโรคซึมเศร้า มีทฤษฎีว่าอาการ SAD มาจากการที่ร่างกายไม่ได้รับวิตามินดีมากพอ แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
พอรู้อย่างนี้แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะต้องทำงาน/เรียนอยู่ที่บ้านทั้งยังต้องมี social distancing จากโควิด (Covid-19) แต่เราจะปล่อยให้โควิดมาเอาแสงแดดออกจากชีวิตเราไม่ได้เลย เพราะการได้รับแสงแดดในปริมาณที่เหมาะสมมีข้อดีหลายอย่างนั้นเอง
แสงแดดมีผลต่อผิวหนังอย่างไร
ตัวการที่ทำให้แสงแดดอันตรายก็คือ รังสี UVA และ UVB สามารถทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดริ้วรอยก่อนวัย ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผื่นแพ้แดด หรือแม้แต่มะเร็งผิวหนัง คนส่วนใหญ่จะคิดว่าวันที่มีเมฆหมอก ไม่มีแสงแดด วันที่ฝนตกหรือในช่วงหน้าหนาว ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายจากแสงแดดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รังสี UV สามารถส่องผ่านลงมาได้ ซึ่งหากเราไม่ได้ทาครีมกันแดดป้องกันหรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ ผิวหนังอาจจะได้รับผลเสียจากรังสี UV ที่ทำให้คอลลาเจนเสื่อมสภาพได้ ทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยก่อนวัย หมองคล้ำหรือผิวขาดน้ำได้ อีกทั้งยังไปกระตุ้นอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์ผิวหนังของเรา เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
ในทางกลับกันหากเรารับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะ แสงแดดไม่แรงจนเกินไป อย่างเช่นในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น แสงแดดจะสามารถกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังได้ ซึ่งจะไปช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก ไม่เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกอ่อนในเด็กได้
เราจะรับแสงแดดอย่างไรให้ดีต่อเรา
เราได้เรียนรู้กันแล้วว่าถึงแม้แสงแดดจะจำเป็นต่อความสุขและสุขภาพของเรา แต่แสงแดดในปริมาณที่มากเกินไป หรือแสงแดดที่แรงเกินไป ก็มีอันตรายต่อสุขภาพและ ผิวหนัง ของเราได้
- รับแสงแดดในช่วงเวลาเช้า ๆ หรือเย็น ๆ และหลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงเวลาสาย เที่ยง และบ่าย ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์อย่างแรงกล้า ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรับแสงแดดเป็นเวลานานเพื่อจะได้รับประโยชน์ โดยการออกไปเดินข้างนอกแค่ 10-15 นาทีในแดดอ่อน ๆ เป็นประจำก็จะได้ประโยชน์จากแสงแดดแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นวันที่มีเมฆก็ตาม เพราะถึงแม้ว่าเมฆจะบังแสงที่เรามองเห็นหมด แต่ 50% ของแสง UV ยังสามารถผ่านเมฆมาได้และช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของเราผลิตวิตามินดี
- ทาครีมกันแดด ในบริเวณที่เสื้อผ้าไม่สามารถปกปิดได้ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและช่วงแขน ทางที่ดีควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 เป็นต้นไปเพื่อการปกป้องที่ยาวนานตลอดทั้งวัน อย่าง Riviera Suisse Face Balm SPF30 PA+++ ที่สามารถบำรุงผิวหน้าให้ชุ่มชื้นพร้อมกันแดดได้และยังอ่อนโยนต่อทุกสภาพผิว